วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มติชน- คำต่อคำ เจาะวิธีคิด”เฮียฮ้อ”อาร์เอสฯเรื่อง”ลาลีกา”สเปน “ราคาสูง”ไม่ใช่”แพง”ถ้ามี”กำไร”




ภายใต้ชายคาบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)...

แม้ว่าจะยังมีภาพประทับของการเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเพลง ที่เน้นไปทางเพลงวัยรุ่นเป็นหลัก ตั้งแต่ยุคบอยแบนด์เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มาถึงยุคกามิกาเซ่ ในยุคที่เด็ก 5 ขวบก็รู้จักเฟซบุ๊ค

แต่รู้กันดีว่า อาณาจักรธุรกิจของอาร์เอสในวันนี้ กลายเป็นบริษัทบันเทิงที่มีคอนเท้นต์ทุกประเภทตั้งแต่ งานเพลง คลื่นวิทยุ ดิจิตอลคอนเทนต์ ไปจนถึงการทำรายการทีวี และที่น่าจับตาก็คือ การได้รับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอล อย่าง ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ปี 2008, ฟุตบอลโลกปี 2010 และปี 2014

ที่สำคัญก็คือ ในวันนี้ อาร์เอสได้ลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกสเปน หรือ ลาลีกา ลีกที่มีผู้ชมเป็นอันดับต้นๆของโลก ในฤดูกาล 2012 ถึง 2015 เป็นระยะเวลา 3 ปีติดต่อกัน

ทั้งหมดทั้งมวลของการเข้าสู่ธุรกิจลูกหนัง มาจากมันสมองของผู้บริหารผู้รักการดูบอล นามว่า เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) นั่นเอง

เริ่มต้นลาลีกาฤดูกาลหน้า ในกลางปีนี้ แฟนบอลชาวไทย คงจะได้ชมฝีเท้านักเตะระดับโลกอย่าง เมสซี หรือ โรนัลโด้ ด้วยช่องทางที่ง่ายขึ้น เพราะเฮียฮ้อบอกว่า เพียงเสียเงินร้อยกว่าบาทต่อเดือน ก็สามารถชมฟุตบอลจากสเปน 380 นัดต่อฤดูกาลได้แล้ว

"มติชนออนไลน์" มีโอกาสได้พูดคุยกับเฮียฮ้อที่อาคารเชษฐโชติศักดิ์ ฐานบัญชาการของอาร์เอส ในย่านลาดพร้าว



ผู้บริหารผู้ออกตัวว่า โดยส่วนตัวเชียร์สโมสรเชลซี ของอังกฤษ แต่ถ้าเป็นสเปน เขาชอบสโมสรบาร์เซโลน่า พร้อมเล่าถึงเหตุผลที่เลือก "ลาลีกา" ไว้ว่า

"เอาอย่างนี้ ตรงๆเลย คือ ด้วยวิธีคิดของอาร์เอส อาร์เอสไม่ได้ทำแพลตฟอร์มรายการ เราไม่ได้ทำกล่องรับสัญญาณเคเบิ้ลทีวี เพราะฉะนั้น วิธีคิดของอาร์เอส ถ้าเราจะเดินธุรกิจนี้ เราไม่ได้เล่นเรื่องปริมาณรายการ การทำแพลตฟอร์มคือการขายรายการโทรทัศน์เป็นชุด 20-30 ช่อง แล้วลูกค้าต้องจ่ายเดือนละเท่านั้นเท่านี้ อาร์เอสไม่ได้เดินตามโมเดลนั้น เราเดินตามลักษณะเพย์เพอร์แชลแนล(pay per channel คือ จ่ายเฉพาะช่องที่ต้องการชม) จ่ายเป็นช่อง เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเดินก็คือ เราจะขายเป็นช่อง วิธีคิดของเราก็คือ เราต้องเลือกช่องเดียวเลยที่ดีที่สุด ไม่มีเหตุผลที่ต้องขายปริมาณ เอารายการประเภทโน้น ประเภทนี้มาลงให้หลากหลาย แต่เราโฟกัสที่ช่องเดียวไปเลย

"ถ้ามองย้อนกลับไป เราก็สนใจฟุตบอลโลก ยูโร เราก็ทำมาแล้ว แล้วฟุตบอลโลกเอง อาร์เอสก็ยังมีลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอีกในปี 2014 ที่บราซิล ทีนี้พอเราจะมาสนใจฟุตบอลลีก เราโฟกัสอยู่ 2 อย่าง  หนึ่งคือ เราเซอร์เวย์มาแล้ว ผมเป็นคนดูบอลอยู่แล้ว เรารู้อยู่แล้วว่า ลีกที่มีมูลค่าแล้วมีฐานแฟนบอลในเมืองไทยมีอยู่ 2 ลีกเท่านั้น คือ พรีเมียร์ลีกเป็นอันดับหนึ่ง อันดับที่สองก็ลาลีกาสเปน เพื่อความแน่ใจ เราทำรีเสิร์ช 3 ครั้ง ก็ชัดว่า ถ้าคัดคนที่เป็นแฟนบอลอย่างเดียว 90 เปอร์เซนต์ชอบพรีเมียร์ลีกเป็นอันดับ 1 แล้วก็ 50 เปอร์เซนต์ เป็นลาลีกาของสเปน ที่เหลือก็หล่นไปเป็น 7-8 เปอร์เซนต์ ไม่ว่าจะเป็นบุนเดสลีกา ของเยอรมนี, กัลโช่ ซีรีส์เอ ของอิตาลี หรือ อย่างลีกเอิงของฝรั่งเศสก็มีคนดูบ้าง สามลีกที่ว่านี้ พูดจริงๆว่า เรตติ้งยังน้อยกว่าไทยพรีเมียร์ลีกเลย ในรีเสิร์ชที่ทำมา ไทยพรีเมียร์ลีกมีคนสนใจ 10 กว่าเปอร์เซนต์

"ทีนี้มีอยู่ประเด็นหนึ่งก็คือ อย่างลาลีกา ตัวเลขที่ออกมาเป็นอันดับสอง คนดู 50 เปอร์เซนต์ ก็เป็น 50 เปอร์เซนต์ที่ไม่ได้รับการดูแลอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา ไม่ค่อยได้โฟกัสนัก เราจึงเชื่อว่า ลีกนี้มีคุณภาพในตัวมันเองอยู่แล้ว อย่างลาลีกา สเปน ถ้าเรานำมาทำมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น ทำกิจกรรมมากขึ้น เข้าถึงคนมากขึ้น มูลค่าจะมากขึ้นแน่นอน เพราะฉะนั้น กลับมามองคำถามที่ว่าทำไมเราเลือกลาลีกา ก็อย่างที่บอก ถ้าเราจะจับ เราจะมองแค่ 2 ตัว  คือ พรีเมียร์ลีก กับลาลีกา สเปน ตอนนี้พรีเมียร์ลีกมีคนถือลิขสิทธิ์อยู่แล้ว อาร์เอสเลยเลือกลาลีกา"

 
มูลค่าลิขสิทธิ์ในลีกลาลีกาที่ประมูลมามีราคาเท่าใด?

"บอกไม่ได้ครับ บอกได้แค่ว่า สูงมาก คือต้องบอกว่า ในอดีต มันเป็นตลาดปิด เพราะฉะนั้น ผู้เล่นในประเทศจึงมีรายเดียว เพราะฉะนั้น เวลาซื้อลิขสิทธิ์ต่างๆ ก็ไม่ยากเท่าไหร่ พอตลาดเปิด ธุรกิจดาวเทียมเติบโต

การคิดโมเดลใหม่ๆในการทำธุรกิจ เปิดโอกาสให้เราคิดมากขึ้นก็เลยมีผู้เล่นเข้ามาเล่นในตลาดนี้มากขึ้น พอมีผู้เล่นมากขึ้น การแย่งชิงลิขสิทธิ์ นำมาซึ่งการประมูลแข่งกัน ก็กลับไปเป็นเหมือนปกติทั่วโลก เมื่อการแข่งขันสูงขึ้น ราคามันก็สูงขึ้น ซึ่งทางอาร์เอสวางงบลงทุนตรงนี้ไว้ ในเวลา 3 ปี ผมใช้ประมาณ 2 พันล้านบาท"

 

ราคาที่ประมูลบอลลีกลาลีกามา ถือว่าสูงไหม?

"ทุกคนบอกว่า ลีกลาลีกา อาร์เอสซื้อมาสูงมาก หลายคนบอกว่าแพง แต่ผมว่า อย่าเรียกว่าแพงเลย ยอมรับว่าสูง แต่แพงหรือถูก อยู่ที่ว่าทำกำไรได้หรือเปล่า หากผมซื้อมาแพงกว่าคนอื่นเท่าตัว แต่ผมทำกำไรได้ นั่นหมายความว่า พวกคุณมองคุณค่าสินค้าเหล่านั้นผิด แต่ถ้าผมซื้อถูก แล้วขาดทุน มันก็แพง"


ลีกลาลีกา หากเทียบเวลากับบ้านเรา มักจะแข่งกันดึกมาก ตรงนี้แก้เกมอย่างไร?

"มีสองประเด็นครับ อย่างแรก มีความแตกต่างเรื่องการบริหารในเวลาออกอากาศ ผมพูดประเด็นนี้ได้เพราะผมเป็นคอบอล คือ หลายคนไม่เข้าใจ แล้วชอบพูดว่า จุดเด่นของลีกฟุตบอลที่เจ้าอื่นประมูลได้ คือการแข่งขันเวลาหัวค่ำ ถ้าหากเวลามีผลกับฟุตบอลจริง มันต้องดังไปแล้ว เพราะฉะนั้น คนดูบอล เรื่องเวลาทีหลัง นี่คือหลักการตลาด ถ้าคุณบอกว่า เวลามีผลจริง บุนเดสลีกาเตะในเวลาดีที่สุดในบ้านเรา รองลงมาก็เป็น ลีกเอิง กับ กัลโช่ แต่สองสามลีกนี้ก็ไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น ผมว่าเรื่องเวลาเป็นเรื่องรอง สุดท้ายเรื่องของสีสัน สไตล์การเล่นของทีมสำคัญกว่า เพราะฉะนั้น เรื่องเวลาของฟุตบอลเป็นประเด็นรอง ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องนั้น

"ประเด็นที่ 2 ลาลีกาสเปน ซีซั่นที่เราได้ จะเป็นครั้งแรกที่เขาเปลี่ยนตารางเวลาการเตะ คือ ในทั่วโลก ถ้าไม่นับประเทศไทย ลีกสเปนไม่แพ้พรีเมียร์ลีก แต่พอมาเมืองไทย ก็ต้องยอมรับว่าเราเองเติบโตมากับฟุตบอลอังกฤษ ผมก็เติบโตมากับฟุตบอลอังกฤษ จะสังเกตว่าทำไมเราเชียร์บอลโลก เราเชียร์ทีมชาติอังกฤษเหมือนเชียร์ทีมชาติไทยเลย ลาลีกาสเปน เขาก็มีจุดอ่อนตรงนี้ แต่วันนี้เขาจะมาบุกเอเชีย จีนเป็นตลาดใหญ่ สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ คุณต้องยอมจัดตารางในการเตะ เพื่อให้แมตช์กับเวลาของเอเชีย ก็เลยมีการปรับเปลี่ยน ในซีซั่นใหม่ของเรา เราได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาทั้งหมด 380 แมตช์ต่อ 1 ซีซั่น สัปดาห์ละ 10 คู่ เวลาไม่ชนกันเลย จะไม่เหมือนลีกอื่นที่เวลาซ้อนกัน

"ที่เขาจัดเวลาแข่งขันใหม่ ถ้าผมจำไม่ผิด วันเสาร์ เตะเวลาสี่ทุ่ม เที่ยงคืน แล้ว ตีสอง และวันอาทิตย์ หกโมงเย็น สองทุ่ม สี่ทุ่ม เที่ยงคืน ตีสอง แล้วก็วันจันทร์เป็นประมาณตีหนึ่ง เพราะฉะนั้น เพียงช่องเดียว เราได้ดูบอลไม่ทับเวลากันเลย ถ้าเราจะถ่ายลีกอื่น ต้องมี 2-3 ช่องเพราะมันซ้อนกัน และเป็นข้อดีของเราด้วยในแง่ของการเดินไปหาลูกค้า เราก็ไม่ต้องทำหลายช่อง เพราะช่องเดียวก็สามารถถ่ายทอดได้ครบแล้ว

"ในแง่ของการทำช่องลาลีกาสเปนก็มีช่องเดียว ลูกค้าจ่ายเงินเราช่องเดียว แล้วดูช่องเดียวครบเลย ถ่ายทอด แต่ว่าในทุกๆสัปดาห์ เราก็จะเอาสักคู่มาถ่ายทอดที่ ช่อง 8 ซึ่งเป็นฟรีทีวีของทางอาร์เอส และอาจจะเป็นทำกับฟรีทีวีช่องอื่นด้วยเดือนละคู่ ผมอาจจะเลือกคู่บาร์เซโลน่า เจอกับบาเลนเซียมาเตะ สำหรับคนที่ไม่ได้เสียเงินดูช่องลาลีกาของอาร์เอส ถ้าดูแล้วชอบก็มาซื้อ ที่ทำเช่นนี้ เหมือนเป็นกลยุทธ์โปรโมตช่องช่อง 8 ของเราไปในตัว สามารถโปรโมตช่องฟุตบอลลาลีกาของเราได้อีกด้วย และถ้าดูฟรีทีวีแล้วคนดูชอบ ก็สามารถซื้อบริการช่องเราได้ เป็นการยิงกระสุนนัดหนึ่งนกตาย 4-5 ตัว"

 
ในเมืองไทย สโมสรจากลีกลาลีกา ดังแค่ 2 ทีม นั่นคือ บาร์เซโลน่า กับ รีล มาดริด จะทำให้คนไทยรู้จักกับสโมสรในลีกสเปนทีมอื่นได้อย่างไร?

"มีคนบอกผมเหมือนกันว่าลีกนี้ จะสนุกไหม เพราะมันมี 2 ทีม ที่เหลือไม่รู้จักเลย ผมบอกว่าต่างกัน ถ้าเราพูดอย่างนี้ ต้องเปรียบเทียบกับบอลลีกของสก๊อตแลนด์ สก๊อตมีกลาสโกว์เซลติก กับ กลาสโกว์ เรนเจอร์ มีเพียง 2 ทีมใหญ่จริงๆ ส่วนลาลีกาผมมองต่างไป ผมมองว่าเหมือนพรีเมียร์ลีกในช่วง 5 ปีที่แล้ว ที่เรารู้จักแค่ 3 ทีม แมนฯยูฯ ลิเวอร์พูล อาร์เซนอล แค่นั้น แต่หลังจากนั้น เราเริ่มรู้จัก เอฟเวอร์ตัน เชลซี แมนฯซิตี สเปอร์ส เราก็รู้จัก เรื่องพวกเราต้องทำมาร์เก็ตติ้ง

"ถ้าอาร์เอสทำ ง่ายนิดเดียว เรามัวแต่ไปมองว่าเมื่อไหร่บาร์เซโลน่าจะเตะกับรีล มาดริด คุณจึงจะเอามาให้คนดู ถ้าลองจับคู่แบบบาร์เซโลน่าเตะกับบาเลนเซีย เราเอามาถ่ายทอดสดให้ดู พอนานเข้าจะรู้ว่า บาเลนเซียก็มีอะไร มีนักเตะบางคนที่เล่นดี เพราะฉะนั้นพวกนี้คือมาร์เก็ตติ้งที่ต้องทำ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาไม่ทำ แล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะว่าเราทำเซอร์เวย์ ผมไปถามว่ารู้จักบาร์เซโลน่าไหม 100 คนบอกว่ารู้จัก แต่พอถามคำถามที่สองว่า แล้วเคยดูไหม ตอบมาไม่ถึง 5 เปอร์เซนต์ เพราะว่าจะดูได้ต้องจ่ายเพื่อที่จะดูรายการทีวีวีถึง 2,000 บาทต่อเดือน ฟุตบอลจึงเป็นของแพงสำหรับคนไทย ที่ผ่านมาคิดกันอย่างนี้ เพราะเราไม่เคยเชื่อเลยว่า จ่าย 100 กว่าบาทจะได้ดูฟุตบอลลาลีกาเพราะฉะนั้น คนไทยรู้จักทีมเหล่านี้จากข่าว จากอินเตอร์เน็ต จากดารา แต่ได้ดูถ่ายทอดสดจริงๆ ถือว่าน้อยมาก"


ราคาค่าบริการหากคนดูต้องการจะชมช่องโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดฟุตบอลลาลีก้า?

"ค่าสมัครสมาชิก เบื้องต้นที่มองไว้ก็คือประมาณ 100 บาทต้นๆ เราจะเปิดตัวสักเดือนหน้า คอนเซปต์ของเราคือ "สะดวกที่สุด ง่ายที่สุด ถูกที่สุด" สะดวกที่สุดก็คือ ไปทุกแพลตฟอร์ม นี่คือโมเดลที่เราคิดไม่เหมือนคนอื่น ผมไม่ได้บอกว่าใครคิดถูกหรือผิด วิธีของอาร์เอสคือ ทำระบบเปิด ช่องนี้อยู่ทุกแพลตฟอร์ม จานดาวเทียมไหนก็ได้ ถ้ามองตรงกัน ผมยินดีไปหมด ผมมองทุกจานเป็นเพื่อน เป็นพาร์ตเนอร์ เป็นคนกระจายสัญญาณให้เรา

"ง่ายที่สุดก็คือ ลูกค้าที่จะเจอเราได้ง่าย ที่ผมทำเซอร์เวย์มา ผมจะไม่พยายามสร้างอะไรใหม่ให้เขา ผมจะดูว่า คุณสะดวกในการจ่ายอย่างไร? ที่ไหน? ผมจะใช้ช่องทางนั้น นั่นคือ บนเค้าน์เตอร์เซอร์วิส ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม โทรศัพท์มือถือพยายามทำให้ครบช่องทาง

"อย่างที่สามคือ ถูกที่สุด เราตั้งราคาถูกกว่า ราคาที่เซอร์เวย์มาลูกค้าได้ซื้อในสิ่งที่ต้องการจริงๆ ไม่ต้องเอารายการอื่นพ่วงมา เรากับลูกค้าก็วิน-วิน เหมือนกับอย่างตอนขายเพลง ผมขายแค่ซิงเกิ้ล ไม่ได้ขายอัลบั้มให้ฟังทั้ง 10 เพลง ผมเองก็งานน้อยลง ไม่ต้องวิ่งซื้อรายการโทรทัศน์มาเพื่อเพิ่มปริมาณ
"ไม่ใช่ว่าต้องคิดแพง แต่ถ้าสามารถไปให้ลึกที่สุด กว้างที่สุด บางทีอาจจะเก็บน้อยที่สุด ตอนแรกผมทำเซอร์เวย์มา ลูกค้าบอกว่า สามร้อยกว่าบาท ยินดีจ่าย ลูกค้าที่บอกว่าสามร้อยยินดีจ่าย จะมีจริงหรือเปล่าเท่านั้นเอง(หัวเราะ)"

 
ในอนาคต หากธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียมขยายตัว คิดเรื่องทำกล่องรับสัญญาณไว้บ้างไหม?

"เรื่องทำกล่องทำจาน ไม่มีความจำเป็น คือในอดีตการทำธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียมต้องมีจาน มีกล่อง เพราะว่าทั้งตลาดเป็นก้างปลาหมด แต่ด้วยวันนี้ ถ้าเราจะเข้ามาในตลาด ผมไม่เห็นต้องนับ 1 เลย เพราะในปัจจุบันมีกล่องในตลาดอยู่แล้วเป็นสิบล้านกล่อง ก็เลยคิดว่าเราจะมีกล่องทำไม เพราะ หนึ่ง การลงทุนก็สูง ความเสี่ยงก็สูง ทุกอย่างคือนับ 1 ใหม่ ผมไม่ได้บอกว่าถูกผิด อาจจะประสบความสำเร็จก็ได้ แต่กว่าจะถึงวันนั้น ต้องมีสเกลที่ใหญ่พอ แต่ผมคิดว่า เราเป็นผู้จัดหาคอนเท้นต์ ผมได้ลิขสิทธิ์มา 3 ปี เพราะฉะนั้นต้องคิดว่าทำได้ 3 ปี เราไม่รู้หรอกว่า ปีที่ 4 ผมจะได้ลิขสิทธิ์หรือเปล่า? แต่ใน 3 ปี ผมต้องหาประโยชน์จากมันตั้งแต่วันแรกของปีแรก แค่นั้นเอง



ตั้งเป้าไว้อย่างไรบ้าง?

"ปีแรกตั้งเป้าว่ามีผู้ใช้บริการ 3 แสนราย หลังจากนั้นเราก็วางเพิ่มประมาณเท่าตัวต่อปี ปีที่สองอาจจะเป็น 6 แสน แล้วปีที่ 3 ก็หนึ่งล้านราย เราเชื่อว่าไปได้แน่ แล้วเป้าที่เราคิด คือตัวเลขที่เราประเมิน เราเชื่อเหรอว่า คนไทยดูบอลแค่แสนคน ผมไม่เชื่อ ที่มีเท่านี้เพราะอาจจะเข้าไม่ถึง แล้วเราทำเซอร์เวย์ ก็พบว่า จากทั้งหมดประมาณ 20 ล้านหลังคาเรือน มีชอบบอล 70 เปอร์เซนต์ แต่มีเพียง 10 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่ได้ดู แต่ยังมีอีกมหาศาลที่ยังไม่ได้ดู ผมจึงมั่นใจกับธุรกิจนี้ ผมมีแค่สามแสนคนในปีแรกผมก็ผ่านแล้ว ในหลังคาเรือน จาก 5 ล้านที่กันว่าเป็นคอบอล มองแบบนี้ จึงคิดว่าไม่ได้ยากขนาดนั้น"


จะดึงสโมสรดังของสเปน มาเตะฟุตบอลในเมืองไทยไหม?

"ช่วงเดือนสิงหาคม บาร์เซโลน่ากำลังจะมาเอเชีย เราก็กำลังคุยอยู่ ถ้าสู้ได้ เขาแฮปปี้ ก็มีสิทธิที่จะได้เห็นบาร์เซโลน่ามาเตะที่เมืองไทย แต่ที่พูดว่าสู้ ก็สู้อยู่บนฐานธุรกิจ ถ้าสู้แล้วแพงกว่านี้ ก็ไม่เอามา คิดอย่างอื่นไปแทน"


แล้วไฮไลต์ฟุตบอล หากคนทั่วไปตัดมาลงในยูทูบ ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ไหม?

"ทำได้ครับ เราต้องคิดแบบแมส เราจะตัดไฮไลต์ให้กับทีวีทุกช่องเลย คุณจะแข่ง ผมตัดให้เอง ก็วินวิน เขาก็ได้คอนเท้นต์ที่ไม่ต้องซื้อ ส่วนเราได้โปรโมต แฟนบอลที่ไม่เคยดู ก็ได้ดู ดูแล้วมีทางเลือก ยูทูบก็สามารถเอาไปลงได้ ดูแล้วสนุก ก็อยากดู ก็มาสมัครกับเราได้เลย เข้าง่าย เจอง่าย ราคาถูก ยิ่งเห็นความสนุกมาก โอกาสจะเข้ามามีมากขึ้น"


นอกจากสโมสรบาร์เซโลน่า และ รีลมาดริดแล้ว สโมสรอื่นใดในสเปนที่อาร์เอสจะปั้นให้เป็นที่รู้จักในบ้านเรา?

"คนไทยรู้จักกับแอตเลติโก มาดริด, บาเลนเซีย เซบีญ่า ลาคอรุนญ่า ผมว่าทำแป๊บเดียวก็จะเห็น และโดยพื้นฐาน รูปแบบการเล่นบอลสเปนสนุก เร็วและเล่นบอลดิน อังกฤษเร็วมาก แต่เล่นบอลโยน ความสนุกจะต่างกัน แล้วลีลานักฟุตบอล ความสามารถเฉพาะตัวเหนือกว่า ถ้าเห็นเรื่อยๆก็จะรู้จักเอง นักเตะก็ดังๆแต่ไม่มีการโปรโมต"


มีความสุขไหม กับการได้ทำธุรกิจที่ชอบ?

"ทำฟูตบอลแล้วสนุก ได้ทำเรื่องที่เราชอบ กลางคืนนอนคิดอะไรได้ก็มาจด(หัวเราะ) คือ ถ้าวันนี้ไม่เข้ามาทำ ก็ไม่ท้าทายแล้ว หากไม่มีอะไรใหม่ๆเข้ามาในชีวิต ธุรกิจก็ไม่ท้าทาย มันก็ไม่สนุก นี่เป็นความท้าทายใหม่ ที่ผมมั่นใจว่าไปได้ครับ"

 
เรื่อง ณัฐกร เวียงอินทร์


ขอขอบคุณมติชนออนไลน์มา ณ โอกาสนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น